แนวทางการดำเนินการ


วัตถุประสงค์

    1. เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ ด้าน STEM “โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)”

    2. เพื่อพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ฝึกทักษะด้านวิศวกรรม และสามารถนำความรู้ มาทดลอง มาพัฒนาเป็นชิ้นงาน และส่งประกวดในเวทีระดับชาติและนานาชาติ

    3. เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนสนใจที่จะมีอาชีพเป็นวิศวกรหรือนวัตกรในอนาคต

เป้าหมายของโครงการ

    เพื่อพัฒนากำลังคนด้าน STEM โดยสร้างพื้นฐานให้เยาวชนในช่วงชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำความรู้มาทดลอง มาสร้างนวัตกรรมได้ และสร้างเส้นทางอาชีพสู่วิศวกรวิจัย วิศวกรออกแบบ และนวัตกรต่อไปในอนาคต โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเชิงปริมาณดังนี้

    1. เด็กและเยาวชน ที่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมีทักษะวิศวกรรมไม่ต่ำกว่า ๑๕,๐๐๐ คน

    2. ครูไม่ต่ำกว่า ๘๐๐-๑,๐๐๐ คน เข้าร่วมกิจกรรม

    3. สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ เข้าร่วม ๑๕๐ แห่ง ในทุกภูมิภาค

แนวทางการดำเนินงานของโครงการ

    1. สวทช. ดำเนินการสร้างโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบให้คณาจารย์จากสถานศึกษาต่าง ๆ ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปพัฒนาต่อยอด / จัดกิจกรรมในสถานศึกษาของตน รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ทั้งที่อยู่ในโครงการที่สวทช. ดูแลอยู่ (เช่น เด็ก JSTP: Junior Science Talents Project) และเด็กและเยาวชน นักเรียน/นักศึกษาทั่วไปที่สนใจ ได้เรียนรู้วิศวกรรมศาสตร์สาขาต่าง ๆ เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเคมี ฯลฯ มีอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นในการทดลองและสร้างชิ้นงานจากวัสดุต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลายด้วยต้นทุนที่คุ้มค่าและไม่สูงนัก (Affordable) อีกทั้ง สามารถใช้ประโยชน์จากโรงประลองต้นแบบนี้ในการทำโครงงานหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมและ/หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ และใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์อีกด้วย

    2. สวทช. ประสานกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยให้เป็นพี่เลี้ยงของโรงเรียน/วิทยาลัยอาชีวศึกษา/วิทยาลัยเทคนิค ทั่วประเทศ และ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อคัดเลือกโรงเรียน เช่น โรงเรียนในกลุ่ม วมว. ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนกลุ่มจุฬาภรณราชวิทยาลัย และ วิทยาลัยอาชีวศึกษาฐานวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการจัดทำโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ในสถานศึกษา จำนวน ๑๕๐ แห่ง โดยในจำนวนนี้ เป็นโรงเรียน/วิทยาลัยอาชีวศึกษา/วิทยาลัยเทคนิค และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ ที่มีความพร้อมในระดับสูง (Advanced) ๗๓ แห่ง และมีความพร้อมระดับปานกลาง (Basic-Intermediate) ๗๗ แห่ง

    3. สวทช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ประสานกับสถานศึกษา/ดำเนินการปรับปรุง/จัดเตรียมพื้นที่ และจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุ ที่เหมาะสม

    4. สวทช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ดำเนินกิจกรรม สำหรับครู เด็กและเยาวชน นักเรียน/นักศึกษา อย่างต่อเนื่อง

    5. สวทช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน นักเรียน/นักศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีต่างๆ ทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติ ตามความเหมาะสม